อภิธรรมมหาวิทยาลัย
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
                 
             
           
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
อดีตอภิธรรมปาโมกข์ แห่ง อภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
แขวงศิริราช   เขตบางกอกน้อย
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารกรุงเทพฯ  ๑๐๗๐๐
                   
                   
    การศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยแต่เดิม    
          ในสมัยก่อนก็เคยมีการเรียนการสอนพระอภิธรรมกันอยู่บ้าง แต่ก็สอนกันเพียงอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท  เช่น สมัยเมื่อพระอมราภิรักขิต วัดบรมนิวาส ได้เคยแปลไว้ หรือ ของพวกเปรียญธรรมก็เคยแปลไว้  อีกฉบับหนึ่ง ของพระโยธาธรรมนิเทศก็เคยแปลไว้ และก็มีการสอนกันบ้าง แต่ไม่กว้างขวางพิสดารเท่าไรนัก เพราะไม่ได้ยกเอาเนื้อหาสาระในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์มาเรียนกันโดยตรง  ถึงแม้ในวงการคณะสงฆ์เราเอง จะได้ยกเอาอภิธัมมัตถสังคหบาลี ๙ ปริจเฉท และฎีกาวิภาวินีแก้ อธิบายสังคหบาลีทั้ง ๙ ปริจเฉท ไปวางไว้เป็นหลักสูตรของประโยค ป.ธ.๙ ก็จริง แต่ก็เป็นแต่เพียงเรียนแปลจากภาษาบาลี ออกมาเป็นภาษาไทยเท่านั้น ในส่วนความเกี่ยวโยงด้านสภาวะ ก็มิได้เน้นสอนกันเป็นกิจลักษณะ    
          ครั้นต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๙ ถึง ๒๔๙๐ ก็ได้มีการสอนพระอภิธรรมและวิปัสสนากันขึ้นที่สำนักวัดปรก ยานนาวา บ้านทวาย ตรอกจันทร์  ในสมัยนั้นก็มีอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เป็นประธาน ได้ศึกษาเล่าเรียนจากพระอาจารย์ภัททันตะ วิลาสมหาเถระ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจากประเทศพม่า  ต่อจากนั้นก็มีอาจารย์ ส.สายเกษม มาสอนต่ออีก แต่ก็สอนกันอยู่ในขอบเขตของอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉทเท่านั้นเอง ผลงานของท่านอาจาย์ ส.สายเกษม เห่าที่ปรากฏก็คือ อภิธรรมพิสดาร เล่ม ๑-๒    
                         
    การสถาปนาอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย    
          ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ครั้งเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ โดยเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ได้มีความเลื่อมใสในพระอภิธรรม และได้ปรารภถึงการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยว่ายังไม่สมบูรณ์นัก มีเฉพาะพระวินัยกับพระสูตร ส่วนพระอภิธรรมนั้น ยังมีไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร มีความประสงค์ที่จะให้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างครบถ้วน จึงได้ติดต่อกับท่านเซอร์อูตวน ประธานสภาพระพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่าในครั้งนั้น  โดยขอให้ทางการแห่งสหภาพพม่า ได้จัดส่งพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา มาสอนยังประเทศไทย    
          เมื่อทางการแห่งสหภาพพม่าได้รับการทาบทามติดต่อเช่นนั้น ก็มีความยินดี สนองเจตนารมณ์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพิมลธรรมเป็นอย่างดี เพราะสมัยนั้น ทางการสหภาพพม่าทราบเกียรติประวัติ และมีความเคารพเลื่อมใสในศึลาจารวัตรของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพิมลธรรมเป็นพิเศษ จึงได้ส่งพระอาจารย์พระอภิธรรมมาให้ตามความประสงค์ ๒ รูป คือ    
          ๑. พระอาจารย์ภัททันตะโชติกะ ธัมมาจริยะ หรือ พระสัทธัมมโขติกะ ธัมมาจริยะ    
          ๒. พระอาจารย์ภัททันตะเตชินทะ ธัมมาจริยะ    
         เมื่อพระอาจารย์ทั้ง ๒ ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว  โดยการริเริ่ม และการสถาปนาของพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ) อภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้เริ่มเปิดดำเนินการ การเรียนการสอน ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ โดยมีพระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นปฐมาจารย์ โดยได้ทำการสอนพระอภิธรรมกันขึ้นที่ อภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆสิตาราม บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก โดยมีคุณพระทิพย์ปริญญา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และศิษย์อีกหลายคน ได้ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทยให้  ส่วนพระอาจารย์เตชินทะนั้น ก็ได้ทำการสอนอยู่ที่สำนักวัดสามพระยา โดยมีคุณพิชิต มณไทยวงศ์ เป็นล่ามแปลเป็นไทยให้  เพราะขณะนั้นพระอาจารย์ทั้ง ๒ ยังมีความเข้าใจในภาษาไทยไม่ดีพอ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แต่ก็ได้อาศัยความอนุเคราะห์จากผู้ที่สนใจหลายฝ่ายได้ช่วยกันถ่ายทอดความรู้จากพระอาจารย์ตลอดมา    
                         
       
    รองส้งราขพม่า เยี่ยมอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๒   
                         
                         
     
                                                                                          
ผู้ได้รับปริญญาบัตร เป็นอภิธรรมบัณฑิต รุ่นแรก ๔ รูป
ถ่ายรูปร่วมกับพระมหาเถระ ๓ ท่าน
เมื่อ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๘
(แถวนั่ง) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สมเด็จพระสังฆราช
  ญาโณทยมหาเถระ, พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
(แถวยืน) พระศรีคัมภีรญาณ, พระอธิการประสาท สุปณฺฑิโต
  พระอาจารย์หวล มงฺคโล, พระครูธรรมบาล อคฺคจิตฺโต
 
 
                         
    การวางหลักสูตรอันเป็นต้นแบบของการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทย    
          เมื่อพระอาจารย์พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ มีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยดีพอแล้ว ก็ได้อาศัยศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลายคน มีคุณวรรณี โกเมศ และคุณถวิล อภัยภูมินารถ เป็นต้น ได้ช่วยกันแปลและเกลาสำนวน ทำเป็นคัมภีร์ภาษาไทยหลายคัมภีร์ แล้วใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน  โดยพระอาจารย์พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้จัดเรียบเรียงหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นชั้นๆ ซึ่งคัมภีร์ที่เป็นผลงานของท่านก็มีอยู่มากมาย และใช้กันมาจนทุกวันนี้    
          นับว่าพระอาจารย์พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้มีส่วนฟื้นฟู เติทเต็ม และฝังรากการเรียนการสอนพระอภิธรรมไว้ในประเทศไทย ช่วยให้พุทธบริษัทชาวไทยได้เรียนรู้และเกิดความแตกฉานในเนื้อหาสาระของพระอภิธรรมขึ้นเป็นอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเสียดาย ยังไม่ทันที่จะสมความตั้งใจของท่านพระอาจารย์ที่จะช่วยเหลือประเทศไทย ท่านก็มาด่วนจากไปเสียก่อนอย่างน่าเสียดายเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙    
          แม้ว่าท่านพระอาจารย์จะได้จากพวกเราไปแล้ว ตามคติธรรมดาของสังขาร ที่ใครๆเกิดมาแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม แต่ท่าก็ยังได้ฝากผลงานไว้เป็นอนุสรณ์ให้ศิษยานุศิษย์ ผู้สนใจในการศึกษาพระอภิธรรมในภายหลัง ได้ระลึกนึกถึงพระคุณของท่านอย่างไม่มีวันลืม และได้อาศัยศึกษาค้นคว้า เป็นการสร้างบารมีต่อไปตลอดกาลนาน    
     
       
       
       
       
       
       
       
       
       
 
Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 145,773 Today: 19 PageView/Month: 169

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...